โครงการเพื่ออาหารกลางวันตามพระราชดำริในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
1 min read
โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามพระราชดำริในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง โดยอาศัยบริโภคอาหารที่ได้จากการเกษตรในโรงเรียน อีกทั้งมีความรู้ทางการเกษตรจากการเข้าร่วมทำการเกษตร และทรงหาแนวทางที่จะช่วยพัฒนาชุมชน โดยให้โรงเรียนเป็นส่วนนำในการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้จากเด็กนักเรียนไปยังชุมชน
โครงการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สหธนาคารกรุงเทพฯบ้านเวียคะดี้ จังหวัดกาญจนบุรี
สภาพปัญหาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สหธนาคารกรุงเทพที่ผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการอาหารกลางวันของนักเรียน เนื่องจากมีพื้นที่ทางการเกษตรที่จำกัด อีกทั้งพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ทุรกันดารชาวบ้านมีความยากจน ทำให้มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารเป็นอย่างมาก
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สหธนาคารกรุงเทพ ชุมชนบ้านเวียคะดี้ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหมู่บ้านที่มีทางเข้าออกเพียงเส้นทางเดียว ทำให้การเข้าถึงด้านการศึกษาหรือการประกอบอาชีพมีทางเลือกน้อย การขนส่งและการนำพืชผลทางการเกษตรออกไปจำหน่ายสู่ตลาดเพื่อให้มีรายได้เป็นไปได้ยากลำบาก อีกทั้งพื้นที่การเกษตรมีจำกัด ชาวบ้านยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าถึงวิธีการในการทำเกษตรแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เข้าถึงวิทยาการด้านการเพาะปลูกที่สามารถให้ผลผลิตสูงและตรงตามความต้องการ
กรมการข้าว โดยสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติและกองประสานงานโครงการพระราชดำริได้ร่วมกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สหธนาคารกรุงเทพ ดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในพื้นที่โดยการปรับพื้นที่และปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมปลูกคือพันธุ์รวงผึ้ง ซึ่งให้ผลผลิตน้อยเปลี่ยนเป็นพันธุ์ กข79 ซึ่งให้ผลผลิตสูง ทั้งนี้กรมการข้าวยังได้ร่วมสนับสนุน
โรงสีข้าวพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ พร้อมโรงเรือนให้โรงเรียนและชุมชนได้ใช้สีข้าวสำหรับบริโภค และยังช่วยลดรายจ่าย ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับชุมชน สามารถสีข้าวได้ดีกว่าการใช้เครื่องสีข้าวแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีความพิถีพิถันและใช้เวลามากเกินความจำเป็น จึงทำให้เสียเวลาในการสีข้าวแต่ละครั้งหลายชั่วโมง แต่ประสิทธิภาพต่ำาทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้าน